Sample Text

บล็อกการดูแลสุขภาพ

แหล่งความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพโดยนำเสนอทั้ง 4 มิติ คือ การดูแลสุขภาพกาย การดูแลสุขภาพจิต การดูแลสุขภาพสังคม และการดูแลสุขปัญญา

บล็อกสถานที่ท่องเที่ยว

แหล่งข้อมูลด้านการท่องเที่ยวโดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวทั้งภายในเมืองไทยทั้ง 4 ภาค และสถานที่ท่องเที่ยวต่างประเทศ

แฟนเพจเกี่ยวกับหมวกไหมพรม

แหล่งสินค้าที่เกี่ยวกับหมวกไหมพรมที่ถักเองรับรองเรื่องความสวยงามและคุณภาพเกินร้อยในราคาเบาๆ สบายกระเป๋า

บล็อกของเล่นพื้นบ้านของไทย

แหล่งข้อมูลของเล่นพื้นบ้านทั้งแนวโบราณและแนวปัจจุบันทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ตลอดจนการละเล่นพื้นบ้านของไทย

บล็อกสมุนไพรไทยเพื่อความงาม

แหล่งรวมสมุนไพรนับร้อยชนิดมากด้วยคุณค่าพร้อมสรรพคุณเป็นเสมือนยาและเครื่องสำอาง เสริมสร้างความงามให้แก่เส้นผม ผิวพรรณ และอื่นๆ

วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ตี่จับ

ตี่จับ

 
http://xn--12c2caaew7aqa3itai6d0g7etac.blogspot.com/2014/12/Tee-Jub.html

วิธีเล่นตี่จับ

แบ่งผู้เล่นออกเป็นสองพวก พวกละเท่าๆ กัน พวกหนึ่งไม่ควรเกิน 10 คน ที่พื้นขีดเส้นกลางเป็นเขต พวกหนึ่งเป็นผู้ตี่ข้ามเส้นเขตไปก่อน แล้วพวกที่สอง ตี่บ้างเปลี่ยนกันเรื่อยไป พร้อมกันต้องคอยระวังถ้าข้างใดเผลอในเวลาตี่ก็จับและยึดไว้กระทั่งขาดเสียงตี่ ผู้ที่ยึดทุกคนต้องตายหมดถ้าหากผู้ตี่ไปถูกตัวผู้ใดเข้ากี่คนก็ตามโดยยังไม่ขาดเสียงตี่แล้วกลับมายังแดนของตนได้ ผู้ที่ถูกผู้ตี่ถูกตัวได้ต้องตายหมด

การตัดสินตี่จับ

ถ้าข้างใดตายหมดก่อน ฝ่ายนั้นคือฝ่ายแพ้

เทศกาลที่เล่นตี่จับ

มีการเล่นในเดือน 4-5 ในเทศกาล ตรุษไทย และตรุษสงกรานต์

คุณประโยชน์ของตี่จับ

เป็นการออกกำลังกายในทางสนุกสนานรื่นเริง ก่อให้เกิดความสมานสามัคคีในหมู่คณะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สุภักดิ์ อนุกูล. เรื่อง "การละเล่นพื้นบ้าน ภาคกลาง + ภาคตะวันตก".

วันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ตีโป่ง

ตีโป่ง



บ้านไทยส่วนใหญ่ จะอยู่ริมน้ำ เด็กๆ จะคุ้นเคยกับแม่น้ำลำคลองเป็นอย่างดี หลายคนว่ายน้ำเก่ง ขณะว่ายน้ำเด็กหญิงชอบตีโป่ง ด้วยการนุ่งผ้าถุงแบบกระโจมอก ใช้มือข้างหนึ่งพุ้ยน้ำเข้ามาในชายผ้า ผ้าถุงจะพองลมขึ้นเหมือนลูกโป่งขนาดใหญ่ มืออีกข้างคอยรั้งชายผ้าถุงให้อยู่ใต้น้ำเพื่อกันไม่ให้อากาศที่อยู่ภายในออกไป การเล่นลักษณะนี้เหมาะสำหรับผู้ที่หัดว่ายน้ำใหม่ๆ แต่ชาวริมตลิ่งส่วนมากแม้จะว่ายน้ำเป็นแล้ว ก็ยังชอบเล่นตีโป่ง เนื่องจากสามารถพลิกแพลงนำไปประกอบการเล่นอื่นได้อีก

วิธีเล่นตีโป่ง

ควรเล่นในที่น้ำลึกระดับอก หาลูกปิงปองหรือวัตถุอื่นใดลักษณะกลมลอยน้ำได้ 1 ลูก ควรมีผู้เล่นอย่างน้อย 3 คนขึ้นไปจึงจะสนุกเริ่มเล่นคนที่ถือลูกปิงปองไว้ ร้องว่า "ตีโป่งเอย ช่วงหรือชิง ทิ้งหรือขว้าง" ถ้าเพื่อนร้องตอบว่า "ทิ้ง" ผู้ถือลูกปิงปองก็ทิ้งลูกลงไปกลางวง สมาชิกก็จะแย่งชิงสนุกสนาน ถ้าร้องเพลงว่า "ตีโป่งเอย ช่วงหรือชิง ทิ้งหรือขว้าง" ถ้าเพื่อนตอบว่า "ขว้าง" ผู้ถือลูกปิงปองก็จะขว้างลูกออกไปนอกวง ทุกคนก็จะโผตัวออกไปไล่เก็บกันสนุกสนาน

การตัดสินตีโป่ง

ผู้เก็บลูกปิงปองได้ จะได้เป็นผู้ขว้างลูกปิงปองในครั้งต่อไป เป็นการเล่นที่ต้องการให้เกิดความสนุกสนาน ไม่ต้องการการแพ้ชนะ

เทศกาลที่เล่นตีโป่ง

เล่นได้ตลอดเวลาที่ต้องการ ถ้าบ้านอยู่ใกล้คลองหรือแม่น้ำ

คุณประโยชน์ของตีโป่ง

ฝึกการเคลื่อนไหวมือ สายตา เกิดความสนิทสนมกลมเกลียวในหมู่เพื่อน ญาติ และเป็นการฝึกพยุงตัวในน้ำ สำหรับผู้ที่ยังว่ายน้ำไม่เป็น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สุภักดิ์ อนุกูล. เรื่อง "การละเล่นพื้นบ้าน ภาคกลาง + ภาคตะวันตก".

แตงกวาสั่ง

แตงกวาสั่ง

 
http://xn--12c2caaew7aqa3itai6d0g7etac.blogspot.com/2014/12/Tang-Kwa-Sung.html

วิธีเล่นแตงกวาสั่ง

สมมติให้คนหนึ่งเป็นแตงกวา คนอื่นๆ ยืนหันหน้ามาทางแตงกวา เริ่มเล่นคนที่เป็นแตงกวาออกคำสั่ง ให้คนเล่นทำท่าทางต่างๆ เช่นมือขวาจับใบหู กระโดด ก้มตัว ชูแขนซ้าย เอียงคอ สั่นหัว ฯลฯ โดยแตงกวาเป็นผู้ออกท่านำ ผู้เล่นทุกคนต้องกระทำตามเมื่อได้ยินคำว่า " แตงกวาสั่ง..." เช่น แตงกวาสั่งให้กระโดด ทุกคนก็ต้องกระโดด แต่ครั้งใดแตงกวาออกคำสั่งโดยไม่ออกชื่อตนเอง ผู้เล่นจะต้องไม่ปฏิบัติตาม ถ้าไปทำตามจะต้องถูกออกจากการเล่น

การตัดสินแตงกวาสั่ง

เมื่อหมดเวลาเล่นที่กำหนด ผู้ที่เหลืออยู่ เป็นผู้ชนะ

เทศกาลที่เล่นแตงกวาสั่ง

เล่นได้ตลอดเวลาที่ต้องการ ส่วนใหญ่เล่นในเทศกาล

คุณประโยชน์ของแตงกวาสั่ง

ฝึกให้เด็กมีความกล้าแสดงออก ฝึกประสาทไหวพริบเกิดความสนุกสนาน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สุภักดิ์ อนุกูล. เรื่อง "การละเล่นพื้นบ้าน ภาคกลาง + ภาคตะวันตก".

วันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เดือนอะไร

เดือนอะไร



อุปกรณ์ ลูกบอลขนาดเล็กนิ่มๆ 1 ลูก

วิธีเล่นเดือนอะไร

จัดคนเล่นให้ครบ 13 คนในจำนวนนี้เป็นหัวหน้า 1 คน หัวหน้าตั้งชื่อคนเล่นเป็นชื่อเดือนทั้ง 12 เดือน ให้คนเล่นยืนเป็นวงกลมหัวหน้ายืนกลางวง เริ่มเล่น หัวหน้าปาลูกหนังลงบนพื้น ลูกบอลจะเด้งขึ้นสูง แล้วเรียกชื่อเดือน เช่น เมษายน หรือเดือนอะไรก็ได้ คนที่มีชื่อตรงกับเดือนนั้นต้องรีบรับลูกบอลให้ได้ ถ้าหากรับลูกบอลไม่ได้ ลูกบอลตกพื้น คนเล่นอื่นๆ ต้องรีบวิ่งหนีทันที อย่าให้คนรับลูกบอลผิดมีเวลาเก็บลูกบอลมาขว้างตนได้คนที่รับลูกบอลไม่ได้และคนที่ถูกปาจะเสียแต้มครั้งละ 1 แต้ม

การตัดสินเดือนอะไร

เมื่อหมดเวลาเล่น ผู้ที่ไม่ถูกหักแต้มเลย หรือเสียแต้มน้อยที่สุด เป็นผู้ชนะ

เทศกาลที่เล่นเดือนอะไร

นิยมเล่นในงานโรงเรียน หรือกิจกรรมการเรียนและงานที่ชุมชนจัดขึ้นเป็นพิเศษ

คุณประโยชน์ของเดือนอะไร

ฝึกความจำ ช่วยให้เด็กๆ จำชื่อเดือนทั้ง 12 เดือนได้แม่นยำและสนุกสนาน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สุภักดิ์  อนุกูล. เรื่อง "การละเล่นพื้นบ้าน  ภาคกลาง + ภาคตะวันตก".

วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557

วิ่งกระสอบ

วิ่งกระสอบ



อุปกรณ์ในการเล่นวิ่งกระสอบ กระสอบป่านเท่าจำนวนผู้เข้าแข่งขัน

วิธีเล่นวิ่งกระสอบ

ผู้จัดการเล่นต้องเตรียมขีดเส้นหรือใช้เชือกหรืออื่นใดก็ได้วางที่พื้นแสดงเส้นเริ่มต้นการแข่งขันและเส้นสิ้นสุดการแข่งขัน เส้นทั้งสองนี้ให้ห่างประมาณ 10 เมตร เป็นอย่างน้อย ให้ผู้เล่นลงไปยืนในกระสอบป่านที่จุดเส้นเริ่มต้นการแข่งขัน ไม่จำกัดจำนวนว่าผู้เล่นจะมีกี่คน เมื่อพร้อมกรรมการจะให้สัญญาณ การวิ่งกระสอบก็จะเริ่มขึ้น ทุกคนต้องพยายามวิ่งขณะที่ตนเองอยู่ในกระสอบ บางคนอาจจะหกล้มหกลุก ก็ต้องรีบลุกขึ้นมาวิ่งต่อไปให้เร็วที่สุด

การตัดสินวิ่งกระสอบ

ผู้ที่วิ่งถึงเส้นสิ้นสุดการแข่งขันก่อนเป็นผู้ชนะ

เทศกาลที่เล่นวิ่งกระสอบ

เล่นในวันสงกรานต์และงานพิเศษที่ชุมชนจัดขึ้น เช่น วันเด็ก วันครู งานวันสำคัญของท้องถิ่น

คุณประโยชน์ของวิ่งกระสอบ

เป็นการออกกำลัง รื่นเริงสนุกสนาน ฝึกให้มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะ รู้อภัย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สุภักดิ์  อนุกูล. เรื่อง "การละเล่นพื้นบ้าน  ภาคกลาง + ภาคตะวันตก".

วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เดินกะลา ขาโถกเถก

เดินกะลา ขาโถกเถก



เดินกะลา ขาโถกเถก เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่มีการเรียกชื่อการเล่นสองชนิดที่นำมาเล่นด้วยกัน ชนิดแรก ทำด้วยกะลามะพร้าวผ่าครึ่ง 1 คู่ วางคว่ำลงกับพื้น เจาะรูร้อยเชือกที่ก้นกะลา ข้างละ 1 เส้น ความยาวเท่าที่ใช้มือดึงได้ขณะที่ยืนอยู่บนกะลา ชนิดที่สอง นำไม้ไผ่ท่อนเล็ก มาคะเนให้มีความสูงตามต้องการทำเครื่องหมายไว้แล้วเจาะรูตรงเครื่องหมายให้ทะลุไปด้านตรงข้าม หาไม้เหนียวๆ สอดนำไปในรูสลัก เอาไม้ท่อนโตมาบากรูสวมทางปลายไม้ไผ่เลื่อนให้ลงมาอยู่ตรงสลัก แล้วพันด้วยผ้ากันไม่ให้เจ็บง่ายเท้า

วิธีเล่นเดินกะลา ขาโถกเถก

  • ชนิดที่ 1 ยืนบนกะลามะพร้าว ใช้หัวแม่เท้ากับนิ้วชี้คีบเชือกไว้ดึงเชือกให้ตึงพร้อมกับการยกเท้าก้าวเดิน
  • ชนิดที่ 2 ขึ้นเหยียบท่อนไม้โตมือจับท่อนเล็กให้ตั้งฉากกับพื้น ใช้ง่ามเท้าคีบไม้ท่อนเล็กการก้าวเดินเหมือนกับการเดินธรรมดา ยิ่งตั้งความสูงไว้มากผู้เล่นผู้ดูต่างก็ยิ่งสนุก

การตัดสินเดินกะลา ขาโถกเถก

ไม่มีการตัดสิน

เทศกาลที่เล่นเดินกะลา ขาโถกเถก

เล่นได้ทุกเทศกาล เช่น ปีใหม่ เข้าพรรษา วันสงกรานต์ เป็นต้น

คุณประโยชน์ของเดินกะลา ขาโถกเถก

เป็นการฝึกเด็กใช้มือและมีความคิดสร้างสรรค์ในการเล่น มีการฝึกการทรงตัว ฝึกความอดทน ก่อให้เกิดความมานะพยายามความสนุกสนานเพลิดเพลิน ที่สำคัญหากได้มีการฟื้นฟูบางอย่างให้เหมาะสมจะ
เป็นการช่วยทางด้านเศรษฐกิจ เช่นการนำวัสดุในท้องถิ่นมาทำเป็นของเล่นเป็นต้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สุภักดิ์  อนุกูล. เรื่อง "การละเล่นพื้นบ้าน  ภาคกลาง + ภาคตะวันตก".

วันพุธที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ดีดลูกหิน

ดีดลูกหิน



ดีดลูกหิน เป็นการละเล่นที่ไม่ต้องการคนมาก เพียงจำนวน 2-3 คนก็เล่นได้ อุปกรณ์เพียงลูกหิน และมีลานดินเพียงเล็กน้อยก็เล่นได้

วิธีการเล่นดีดลูกหิน

จัดทำลานดินให้เรียบ เตรียมลูกหินที่ทำด้วยก้อนดินเหนียว ปั้นกลม วางไว้ให้แห้งแข็ง หรือถ้ามีลูกแก้วก็ใช้ลูกแก้วแทนได้ เริ่มแรกต้องขุดหลุมเล็กๆ ขนาดโตกว่าลูกหินสักเล็กน้อย จากนั้นขีดเส้นตรงบนพื้นบนพื้นลานเป็นเส้นกำหนดสำหรับยืนดีดห่างจากหลุมประมาณ 5-6 ก้าวเริ่มเล่นให้ทุกคนยืนที่เส้นโยนลูกหินเข้าไปที่หลุม ของใครใกล้หลุมมากที่สุดจะได้เป็นผู้เล่นก่อน การดีดลูกหินมี 2 แบบ คือยืนดีดกับนั่งดีด จะยืนจะนั่งท่าใดก็ได้ตามถนัด ที่สำคัญต้องให้นิ้วหัวแม่มือปักดิน ไว้ตรงจุดลูกหินของตนเองวางอยู่ การดีดต้องดีดด้วยนิ้วกลาง ตาเล็งมองไปยังลูกหินที่จะยิง เมื่อพร้อมแล้วต้องดีดแรงๆ ให้ลูกหินถูกเป้า ถ้าขณะดีดมีการยกหัวแม่มือขึ้นจากพื้นถือว่าผิดกติกา การดีดครั้งแรกต้องดีดให้ลงหลุม ถ้าลูกหินลงหลุมจะได้ 1 คะแนนทันที จากนั้นเป็นการดีดทำคะแนนต่อ ด้วยการดีดให้ถูกลูกหินที่อยู่ใกล้ที่สุดก่อน ดีดถูกจะได้คะแนน 1 คะแนน เรื่อยไปกระทั่งครบ 10 คะแนน ใครได้ 10 คะแนนก่อนถือว่าเป็นผู้ชนะ กรณีที่ดีดไม่ถูกลูกหินคนอื่นอีกทั้งไม่ลงหลุม เรียกว่า ตาย ไม่มีสิทธิ์เล่นต่อ ต้องเปลี่ยนให้คนที่ลูกหินอยู่ใกล้หลุมเป็นคนเล่น การทำคะแนนนอกจากจะได้คะแนนจากการดีดลูกหินคนอื่นแล้ว ถ้าดีดลงหลุมได้ก็ได้คะแนน 1 คะแนนเช่นเดียวกัน การเล่นจะเล่นกันกี่คนก็ตาม เมื่อใครได้9 คะแนนแล้วคะแนนสุดท้ายจะดีดลงหลุมไม่ได้ ต้องดีดถูกลูกหินคนอื่นที่เขานำไปวางล่อไว้ที่ตรงไหนก็ได้ให้เราดีด ถ้าลูกหินล่อวางไกลเกินไป คิดว่าจะดีดไปไม่ถึงก็อาจดีดลูกลงหลุมก่อนก็ได้ แล้วจึงดีดจากปากหลุมไปโดนลูกหินของใครก็ได้ที่อยู่ใกล้ที่สุด ก็จะได้ 1 คะแนน (รวมเป็น 10 คะแนน) เช่นเดียวกัน

การตัดสินดีดลูกหิน

การเล่นจะเล่นกี่คนก็ตาม ผู้แพ้จะมีเพียงคนเดียว คือคนท้ายสุดที่มีคะแนนไม่ครบ 10 ผู้แพ้จะต้องนำลูกหินของตนไปวางที่ปากหลุมให้ผู้ชนะผลัดกันดีด เมื่อดีดครบทุกคนแล้ว ผู้แพ้ต้องพยายามดีดลูกหินของตนให้ลงหลุมให้ได้ ถ้าไม่สามารถทำได้ ก็ถูกลงโทษด้วยการนำลูกหินไปวางปากหลุมให้เพื่อนดีดใหม่

เทศกาลที่เล่นดีดลูกหิน

นิยมเล่นในเทศกาล หรืองานที่ชุมชนร่วมกันจัดขึ้น

คุณประโยชน์ของดีดลูกหิน

เกิดความสนุกสนาน รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ฝึกการกะระยะและความอดทนในการรอคอย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สุภักดิ์  อนุกูล. เรื่อง "การละเล่นพื้นบ้าน  ภาคกลาง + ภาคตะวันตก".

วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ดนตรีชะงัก

ดนตรีชะงัก



การเล่นดนตรีชะงักเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่ผู้เล่นจะต้องเตรียมหาเครื่องดนตรี 1 ชิ้น (อาจเป็นหีบเพลงปาก แคน หรือเครื่องดนตรีอะไรก็ได้ตามที่มี) ส่วนคนเล่นไม่จำกัดจำนวน ที่สำคัญต้องมี 1 คนเล่นดนตรีได้ เล่นเพลงอะไรก็ได้ไม่จำกัดเช่นเดียวกัน

วิธีเล่นดนตรีชะงัก

เมื่อผู้เล่นได้ยินเสียงดนตรี ผู้เล่นทุกคนต้องกระโดดโลดเต้นหรือรำเรื่อยไป ทันทีที่ดนตรีหยุด ทุกคนต้องรีบนั่งลงกับพื้น คนที่นั่งช้าจะถูกคัดออกครั้งละคน กระทั่งเหลือคนเดียว เป็นผู้ชนะ

การตัดสินดนตรีชะงัก

หลังจากคัดออกครั้งละคนแล้ว ผู้ที่เหลืออยู่เป็นคนสุดท้ายเป็นผู้ชนะ

เทศกาลที่เล่นดนตรีชะงัก

นิยมเล่นในงานเทศกาล งานโรงเรียน หรืองานที่ชุมชนจัดขึ้นเป็นพิเศษ

คุณประโยชน์ของดนตรีชะงัก

ฝึกประสาท ก่อให้เกิดความสามัคคี รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สุภักดิ์  อนุกูล. เรื่อง "การละเล่นพื้นบ้าน  ภาคกลาง + ภาคตะวันตก".

ชักสาว

ชักสาว

วิธีเล่นชักสาว



มีอุปกรณ์การเล่นไม้กลมยาว 1 ศอก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้วฟุต เริ่มเล่นแบ่งคนที่เล่นออกเป็น 2 พวก จำนวนเท่าๆ กันจะให้เป็นหญิงพวกหนึ่ง ชายพวกหนึ่งก็ได้ จำนวนพวกละ 10 คนขึ้นไปแต่ละพวกควรเลือกคนที่ร่างกายแข็งแรงข้างละคนให้จับไม้ที่เตรียมไว้หันหน้าเข้าหากันเรียกว่า คนหัวพวง ส่วนคนเล่นที่เหลือจับบั้นเองกันในพวกของตนตามลำดับไหล่ เมื่อกรรมการให้สัญญาณโห่ 3 ครั้ง แถวที่เล่นทั้ง 2 พวกก็เริ่มลงมือชักไม้กัน คนหัวพวงข้างใดจับไม้ไว้ได้ ไม่ปล่อยให้หลุดมือจะเป็นผู้ชนะ อีกฝ่ายเป็นฝ่ายแพ้

การตัดสินชักสาว

จะมีกรรมการคอยดูอยู่ 2 คน คนละข้าง ข้างใดยังถือไม้ไว้ได้ก็ตัดสินว่าข้างนั้นชนะ ทั้งนี้แล้วแต่การตกลงกันว่าจะให้ผู้แพ้รำ ร้องเพลง หรือฝ่ายชนะจะได้กินข้าวห่อโดยผู้แพ้เป็นผู้เลี้ยงก็ได้

เทศกาลที่เล่นชักสาว

นิยมเล่นกันในวันตรุษไทย หรือวันสงกรานต์

คุณประโยชน์ของชักสาว

เป็นการออกกำลังกาย ได้เพื่อนใหม่ ส่งเสริมความรักสามัคคีในหมู่คณะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สุภักดิ์  อนุกูล. เรื่อง "การละเล่นพื้นบ้าน  ภาคกลาง + ภาคตะวันตก".

วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ชักเย่อ

ชักเย่อ

ชักเย่อ


ชักเย่อ เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่สามารถใช้เป็นกิจกรรมเชิงเสริมสร้างความสามัคคีได้โดยไม่จำกัดว่าเป็นองค์กร หน่วยงานหรือชุมชน ในภูมิภาคใด เพราะเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่สนุกสนานและยังถือได้ว่าเป็นการกีฬาประเภทหนึ่งด้วย ซึ่งการละเล่นหรือการแข่งขันนั้นต้องแบ่งผู้เล่นเป็นสองฝ่ายๆ ละเท่าๆ กัน และถ้ามีจำนวนมากกว่า 1 ทีมก็ต้องมีการจัดโปรแกรมการแข่งขันกันอีกที

วิธีเล่นชักเย่อ

หาเชือกขนาดใหญ่เหนียว 1 เส้น ยาวประมาณ 10-20 เมตร หากึ่งกลางของความยาวเชือก ใช้กระดาษสีหรือผ้าสีสดผูก จากนั้นแบ่งคนเล่นเป็นสองพวกจำนวนเท่ากัน แต่ละพวกให้ยึดปลายเชือกไว้คนละข้าง กรรมการขีดเส้นตรงลงบนพื้น 1 เส้น นำส่วนที่ผูกด้วยกระดาษสี ผ้าสีวางทับเส้นตรงที่ขีดให้มีลักษณะเป็นกากบาท เมื่อผู้เล่นพร้อมจึงให้สัญญาณ (ใช้การตีธงหรือให้สัญญาณเสียงนกหวีดก็ได้) ทั้งสองฝ่ายจะออกกำลังดึงเชือกอย่างเต็มความสามารถ

การตัดสินชักเย่อ

ขณะที่มีการชักเย่อ ผู้ตัดสินจะยืนอยู่ใกล้กึ่งกลางเชือกเมื่อเห็นว่าข้างใดดึงเชือกไปทางแดนของตนมากสุดก็ตัดสินให้ชนะ

เทศกาลที่เล่นชักเย่อ

ในฤดูแล้งเล่นได้ตลอดเวลา การเล่นจะเล่นในที่แจ้งสนามหญ้า ทุกเทศกาลที่ต้องการให้เกิดความสนุกสนาน รื่นเริง เนื่องจากไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์มาก

คุณประโยชน์ของชักเย่อ

เกิดความสามัคคีพร้อมเพรียง เป็นการออกกำลังกายและรื่นเริงสนุกสนาน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สุภักดิ์  อนุกูล. เรื่อง "การละเล่นพื้นบ้าน  ภาคกลาง + ภาคตะวันตก". 

วันเสาร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2557

งูกินหาง

งูกินหาง

วิธีการเล่นงูกินหาง

งูกินหาง


แบ่งผู้เล่นไม่จำกัดเพศออกเป็น 2 ฝ่ายเท่าๆ กัน (ไม่จำกัดจำนวนแล้วแต่ผู้เล่นจะมากน้อยเพียงใด) ทั้งสองฝ่ายนี้จะเป็นหญิงฝ่ายหนึ่งชายฝ่ายหนึ่ง หรือชายหญิงรวมกันก็ได้ เมื่อแบ่งพวกแล้วต่างฝ่ายก็จับหรือกอดบั้นเอวกัน บางแห่งให้ผู้เล่นทั้งหมดยืนกอดบั้นเอวกันทั้งหมด มีเพียงคนเดียวไปยืนร้อง "แม่งูเอย แม่งูวัดโบก โยกไปก็โยกมา" หรือเป็นเพลงทำนองอะไรก็ได้ แต่ต้องขึ้นประโยคว่าแม่งู ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลูกแถวแม่งูเกิดการเผลอตัว ขาดความระมัดระวัง คนที่ร้องเพลงก็วิ่งไปจับตัวหางแม่งูได้ง่ายส่วนกรณีที่แบ่งผู้เล่นออกเป็นสองฝ่ายเท่าๆ กันนั้น คนหัวหน้าสุดจะนับ 1 -2-3 (นับฝ่ายเดียว) แล้วเริ่มกินหาง คนที่อยู่หน้าสุดทั้งสองฝ่ายต่างพยายามจะจับคนท้าย คนท้ายสุดที่เรียกว่าหางงู ต้องรู้จักหลบหลีกว่องไวอย่าให้เขากินหางได้ เมื่อฝ่ายใดจับหางอีกฝ่ายหนึ่งได้แล้ว ฝ่ายที่จับได้จะเป็นฝ่ายชนะ ฝ่ายที่ถูกกินหางเป็นฝ่ายแพ้ หางงูจะถูกยึดไปทีละคนไปยืนกอดเอวคนร้องเพลงแล้วแต่จะตกลงกันว่า กินหางกี่คนจึงจะหยุดเล่น

การตัดสินงูกินหาง

  1. แบบที่แบ่งผู้เล่นออกเป็นสองฝ่ายเท่าๆ กัน ถือว่าฝ่ายหนึ่งกินหางอีกฝ่ายได้นั้นเป็นฝ่ายชนะ ฝ่ายถูกกินหางเป็นฝ่ายแพ้จะต้องรำแล้วแต่ฝ่ายชนะจะกำหนด เพียงเพื่อให้เกิดความสนุกสนานรื่นเริงเท่านั้น
  2. แบบที่ให้ผู้เล่นกอดบั้นเอวกันเพียงฝ่ายเดียว เมื่อถูกกินหางคนที่เป็นหางวิ่งหนีไม่ทันและถูกกินจะต้องไปกอดเอวฝ่ายตรงข้าม (คนที่ร้องเพลงแม่งู) แล้วแต่ตกลงกันว่า ได้หางแม่งูกี่คนแล้วการเล่นจึงจะยุติ

เทศกาลที่เล่นงูกินหาง

นิยมเล่นแข่งขันกันในวันตรุษสงกรานต์ หรือวันว่างที่ชุมชนกำหนดขึ้นเป็นพิเศษ

คุณประโยชน์ของงูกินหาง

เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน ออกกำลังกายและเกิดความสมานสามัคคีในหมู่คณะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สุภักดิ์  อนุกูล. เรื่อง "การละเล่นพื้นบ้าน  ภาคกลาง + ภาคตะวันตก". และข้อมูลภาพจาก http://siamtradition.blogspot.com

คล้องช้าง

คล้องช้าง



คล้องช้าง เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่สนุกสนาน มีกิจกรรมที่ต้องทำอีกทั้งมีการร้องประกอบการเล่นที่ร่าเริง เป็นที่ถูกใจเยาวชนคนหนุ่มสาว

วิธีเล่นคล้องช้าง

ใช้ม้านั่งทรงกลมหรือครกตำข้าวมาวางคว่ำกลางวง ผู้จะเล่นคล้องช้างขึ้นยืนบนครก ในมือถือผ้าทำเป็นบ่วงคล้องช้าง ผู้เล่นอื่นๆ เดินเป็นวงรอบครก พร้อมกับร้องเพลงคล้องช้างช้าๆ มีเนื้อว่า

 "คล้องช้างเอามาได้เอย 
เอามาผูกไว้ผูกไว้ที่ต้นครก 
ช้างเถื่อนมันไม่เคย 
เอาหัวไปเกยกับช้างบก 
ก้นครกมันเล็กนัก 
มันจะหักลงเอย 
คล้องไหนคล้องซี 
คล้องไอ้ช้างหางชี้ 
คล้องไปขี่เล่นเอย 
คล้องไหน 
คล้องเข้า 
คล้องไหน 
คล้องเข้า 
คล้องไอ้ช้างหางยาว 
มาคล้องให้เข้าคอเอย"

ถ้าคนคล้องช้างคล้องได้คนใด คนนั้นต้องไปเป็นคนคล้องแทน ความสนุกอยู่ที่การหลอกล่อคนคล้อง ผู้เล่นเป็นช้าง จะเข้าไปใกล้บ้าง จับผ้าเสื้อกางเกงบ้าง การคล้องส่วนใหญ่ ชายจะคล้องหญิง หญิงจะคล้องชาย เป็นที่สนุกสนาน

การตัดสินคล้องช้าง

ไม่มี

เทศกาลที่เล่นคล้องช้าง

เล่นได้ทุกเทศกาลและงานที่ชุมชนจัดขึ้นเป็นพิเศษ

คุณประโยชน์ของคล้องช้าง

ความสนุกสนานอยู่ที่การร้องประกอบการเล่นและการหลอกล่อขณะเล่น เกิดความสามัคคี มีเพื่อนใหม่ ได้ออกกำลังกาย จิตใจปลอดโปร่ง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สุภักดิ์  อนุกูล. เรื่อง "การละเล่นพื้นบ้าน  ภาคกลาง + ภาคตะวันตก".

เข้าผีกะลา

เข้าผีกะลา



การเข้าผีกะลา เป็นการละเล่นพื้นบ้านตามความเชื่อของชาวบ้าน ปัจจุบันหาดูได้ยาก แต่ผู้แก่ผู้เฒ่าที่เคยพบเห็นยังนำมาเล่าให้ลูกหลานที่สนใจได้รู้เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีการเล่นและช่วยกันรักษาไว้ได้อย่างครบถ้วน

วิธีเล่นเข้าผีกะลา

ใช้ผ้าปิดตาผู้เล่น (ส่วนใหญ่นิยมให้ผู้หญิงเป็นคนทรง) ด้วยการพับผ้าเป็นแถวยาวคาดที่ดวงตาทั้งสองแล้วไปผูกปลายผ้าทั้งสองไว้ที่ท้ายทอย ความประสงค์คือไม่ให้มองเห็น จากนั้นนำกะลาตัวผู้มา 1 ฝา คว่ำลงที่พื้น ให้คนที่จะเข้าผีนั่งทับบนกะลา มือทั้งสองยันไว้ที่พื้น คนดูที่อยู่รอบๆ ก็จะร้องเพลงเชิญผีให้มาเข้า พร้อมกับคนดูคนหนึ่งจะจุดธูปสองดอกปักเหน็บไว้ที่ผ้าผูกตาของคนเข้าทรง เพลงที่คนดูร่วมกันร้องเริ่มต้นจะขึ้นด้วยเพลงเชิญผี มีเนื้อว่า

 "กุ๊ก กุ๊ก มาเย มาเย สังเอย สังหนอ มาเล่นกันหนอ สังมาไวๆ" คนร้องจะช่วยกันร้องเรื่อยไป กระทั่งคนเข้าฝีมีอาการนั่งตัวโยกไปโยกมา และล้มลงบนพื้น แสดงว่าผีเข้าแล้ว ถึงตอนนั้นคนดูจะเข้าไปแก้ผ้าผูกตาออก จากนั้นจะร้องเพลงอะไรก็ได้ คนเข้าผีจะรำไปตามจังหวะของเพลง เพลงที่นิยมนำมาร้องส่วนใหญ่เป็นเพลงจังหวะเร็วที่ให้ความสนุกสนาน เช่น เพลงรำวง หรือเพลงพื้นเมือง ถ้าเพลงใดที่คนดูนำมาร้องมีเนื้อเพลงหยาบโลน ไม่เหมาะสม ผู้เข้าผีจะกำทรายที่พื้นสาดคนดู วิ่งหนีกันเป็นที่สนุก เมื่อต้องการจะหยุดเล่น ให้คนดูคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนเอามือเข้าไปถูกตัวผู้เข้าผี ผีจะออก การเล่นเข้าผีกะลาก็จะยุติ


การตัดสินเข้าผีกะลา

ไม่มี


เทศกาลที่เล่นเข้าผีกะลา

นิยมเล่นในงานตรุษสงกรานต์


คุณประโยชน์ของเข้าผีกะลา

เพื่อให้เกิดความเป็นกันเอง สนุกสนาน เกิดความรักสามัคคีในหมู่คณะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สุภักดิ์  อนุกูล. เรื่อง "การละเล่นพื้นบ้าน  ภาคกลาง + ภาคตะวันตก".

วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ขี้ตู่กลางนา

ขี้ตู่กลางนา

ขี้ตู่กลางนา


ขี้ตู่กลางนา เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่เด็กทั่วๆไปนิยมเล่นกัน เนื่องจากเล่นง่าย ไม่มีอุปกรณ์มากและเล่นได้ทุกเวลาที่ต้องการเล่น เพียงมีก้อนหิน เศษสตางค์ หรือเม็ดผลไม้เล็กๆ เพียงเม็ดเดียวก็เล่นได้

วิธีเล่นขี้ตู่กลางนา

ให้ผู้เล่นนั่งล้อมวง และอีกคนนั่งกลางวงก้มหน้าหรือนั่งหมอบ เพื่อไม่ให้มองเห็นคนที่นั่งล้อมวง จากนั้นเด็กๆ ที่นั่งล้อมวงร้องขึ้นพร้อมๆกันว่า "ขี้ตู่กลางนา ขี้ตาตุ๊กแก ขี้มูกยาแก่ ถือไม้อ้อแอ้ อยู่มือคนไหน จำไว้ให้แน่ ออระแร้ ออระชอน" ระหว่างที่ร้องนั้นให้คนที่นั่งรอบวงทำทีว่ากำเหรียญหรือก้อนหินซ่อนไว้ในมือ ทันทีที่ร้องคำร้องจบให้ทุกคนกำมือไพล่หลัง ตีสีหน้าทำไม่รู้ไม่ชี้ ทำให้ผู้ทายที่อยู่กลางวงทายไม่ถูกว่าเหรียญอยู่ในกำมือใคร ถ้าผู้ทายๆ ผิด ก็ต้องหมอบกลางวงเป็นครั้งที่สอง พวกนั่งที่วงก็จะร้องคำร้องอีกครั้ง ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าผู้ทายๆถูกคนที่กำเหรียญนั่งอยู่รอบวงก็ต้องเข้ามานั่งในวงเป็นคนทายต่อไป

การตัดสินขี้ตู่กลางนา

ไม่เอาจริงเอาจังกับการแพ้ชนะ ต้องการเพียงให้เกิดความสนุกสนานรื่นเริงเท่านั้น

เทศกาลที่เล่นขี้ตู่กลางนา

เล่นได้ตลอดเวลาที่ต้องการเล่นและมีสมาชิกจำนวนมากพอจะเล่นได้ ส่วนมากนิยมเล่นกันภายในบ้าน หรือหมู่ญาติพี่น้อง

คุณประโยชน์ของขี้ตู่กลางนา

เกิดความรัก สนิทสนมกลมเกลียวกันในหมู่ผู้เล่นหรือญาติพี่น้อง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สุภักดิ์  อนุกูล. เรื่อง "การละเล่นพื้นบ้าน  ภาคกลาง + ภาคตะวันตก".

สังคมออนไลน์

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More